โรคทางเดินน้ำดีตีบตัน (Biliary atresia) เป็นโรคที่พบได้ในเด็กทารก ซึ่งพบได้ไม่บ่อย ประมาณ 1 ต่อ 10,000 ของทารกแรกเกิด หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วมีความสำคัญอย่างมาก
สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ในอดีตเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด อย่างไรก็ตามในระยะหลังคาดว่าเกิดจากที่มีการอักเสบ และการเกิดเนื้อเยื่อพังผืดอย่างต่อเนื่องของระบบทางเดินน้ำดี ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การติดเชื้อบางชนิด หรือสารพิษบางอย่าง อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคได้
อาการที่จะสงสัยโรคทางเดินน้ำดีตีบตัน
- ภาวะตัวเหลืองที่นานเกิน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะลักษณะตัวเหลืองเขียว ซึ่งต่างจากภาวะตัวเหลืองทองที่เป็นภาวะปกติได้ในทารกแรกคลอด
- สีของอุจจาระที่มีลักษณะซีดขาว บ่งบอกว่าไม่มีน้ำดีไหลลงสู่ระบบทางเดินอาหาร
การวินิจฉัยโรคทางเดินน้ำดีตีบตัน ต้องอาศัย ผลเลือดการตรวจหน้าที่ตับ (Liver function test), อัลตราซาวน์ช่องท้อง, การฉีดสารเพื่อดูการทำงานของตับ และทางเดินน้ำดี รวมถึงการผ่าตัดเพื่อฉีดสารทึบรังสีดูการทำงานของทางเดินน้ำดี
การรักษาโรคทางเดินน้ำดีตีบตัน ถือเป็นภาวะเร่งด่วน เนื่องจากผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข (Kasai operation) ภายในอายุ 60 วัน พบว่าทารกที่เป็นโรคนี้ที่อายุมากกว่า 60 วันอาจจะมีลักษณะตับแข็ง และไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนมาเหมือนปกติได้
ดังนั้น หากพบทารกที่มีตัวเหลืองนานมากกว่า 2 สัปดาห์ หรืออุจจาระสีซีด ควรคิดถึงโรคนี้ และรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม ... เด็กทุกคนที่คลอดในโรงพยาบาลลานนา เราจะมีพยาบาลวิชาชีพ และคุณหมอให้คำปรึกษาอยู่เสมอ และจะได้รับใบคำแนะนำในเรื่องของการสังเกตสีอุจจาระของลูกน้อย เกี่ยวกับภาวะโรคทางเดินน้ำดีตีบตัน เพื่อนำไปสังเกตดูความผิดปกติของลูกน้อยระหว่างอยู่ที่บ้าน ซึ่งหากพบความผิดปกติ ก็สามารถเข้ามาพบคุณหมอได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจวินิจฉัย และสามารถรักษาไดทันท่วงที
Download ใบคำแนะนำวิธีสังเกตอุจจาระทารกจาก โรคทางเดินน้ำดีตีบตัน